วิธีรับมือ 5 อาการผู้ป่วยมะเร็ง

เชื่อว่าในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด หลายครั้งที่ทางผู้ป่วยและญาติเองต่างมีความกังวล ไม่รู้ว่าเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการขึ้นมาเราจะรับมือมันยังไง วันนี้คุณหมอมีคำแนะนำมาฝากครับ

อาการเหนื่อย
อาการเหนื่อยสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเวลามีก้อนในปอดขึ้นมามันจะทำให้การหายใจผิดปกติไป ทำให้หายใจไม่ได้เต็มปอดเหมือนคนทั่วไป

สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้คือการจัดสถานที่ สถานที่ที่มีลมผ่านเบาๆ สบายๆ หรือที่ปลอดโปร่ง คนไม่หนาแน่น ไม่แออัด ทำให้จิตใจผู้ป่วยสงบมากขึ้น อาการเหนื่อยก็จะลดลงได้

ถ้าเกิดยังรู้สึกว่าอาการไม่ดีขึ้น อาจจะใช้การจัดท่าทางหรือการโน้มตัวไปข้างหน้า เพื่อให้กล้ามเนื้อช่วยหายใจ หายใจได้สบายมากขึ้น ทำให้ลดอาการเหนื่อยได้

ขั้นตอนต่อไป คือ วิธีการหายใจแบบห่อปาก (Pursed Lip Breathing) การทำแบบนี้ช่วยลดความเหนื่อยจากการหายใจได้ วิธีการ คือ หายใจเข้าหนึ่งจังหวะ ออกสามจังหวะ โดยที่หายใจเข้าหน้าท้องจะป่อง และหายใจออกทางปาก นับหนึ่ง…สอง…สาม… ช้าๆ

อาการปวด
หลายครั้งที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่ตำแหน่งต่างๆ เช่น กระดูก ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดจากตัวโรคค่อนข้างมาก การรักษามีทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา การรักษาแบบใช้ยาแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาและกินยาตามที่แพทย์สั่ง ส่วนการบรรเทาอาการปวดแบบไม่ใช้ยาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำกายภาพบำบัด หรือแค่เปิดเพลงเบาๆ ให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงความสนใจจากความเจ็บปวดได้ก็ทำให้ลดอาการปวดได้

อาการคลื่นไส้อาเจียน
การรับมือกับอาการคลื่นไส้อาเจียนขณะที่ผู้ป่วยได้รับเคมีบำบัด สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ คือ การแบ่งอาหารเป็นมือย่อยๆ เป็นมือเล็กๆ แบ่งกินหลายๆ มื้อก็ช่วยได้ และหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป อาการคลื่นไส้อาเจียนก็จะบรรเทาลงได้มาก

อาการอ่อนเพลีย หรือ เหนื่อยล้า
อาการเหล่านี้พบมากในผู้ป่วยมะเร็ง การเหนื่อยล้ามันรวมระหว่างทางร่างกายและจิตใจร่วมกัน การดูแลรักษาต้องแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม
- กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ยังพอมีแรงอยู่ กลุ่มนี้ยังสามารถออกกำลังกายได้ การออกกำลังกายทำให้ร่างกายสดชื่นมากขึ้น เช่น การเล่นโยคะจะทำให้ร่างกายรู้สึกกระปี้กระเป่าขึ้นมาและทำให้สมาธิจิตใจเราสงบลง
- แต่กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถที่จะออกแรงได้มาก ก็แนะนำเป็นการสงวนพลังงาน ทำได้ง่ายๆ โดยการนั่งยืดแขน ยืดขาขึ้นลง

อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
อาการนี้ทำให้ผู้ป่วยและญาติหนักใจมากในการดูแล เมื่อผู้ป่วยกินอาหารไม่ได้ ผู้ที่เป็นญาติก็รู้สึกว่าจะทำยังไงให้ผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงได้เหมือนเดิม

จริงๆ ต้องมองก่อนว่าถ้าผู้ป่วยอยู่ในช่วงการรักษาเคมีบำบัดอาจจะมีแผลในปากได้ อาจต้องดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีก่อน การดูแลช่องปากก็ทำได้โดยการบ้วนน้ำเกลือ หรือการแปรงฟันด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มก็ทำให้ผู้ป่วยสามารถแปรงได้โดยไม่เจ็บปาก

แต่ถ้าทำทุกอย่างแล้วผู้ป่วยก็ยังกินอาหารได้น้อยอยู่ ก็อาจจะเลือกอาหารทางการแพทย์ อาหารทางการแพทย์รูปร่างคล้ายๆ นม แต่ว่าจริงๆ แล้วมีคุณค่าทางอาหารค่อนข้างที่จะครบอยู่แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีร่างกายที่แข็งแรงมากขึ้นได้

ด้านบนเราพูดถึงอาการที่เราสามารถรับมือเองได้ที่บ้าน แต่ก็มีบางอาการที่ผู้ป่วยควรที่จะมาโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ครับ เช่น อาการมีไข้ เสมหะเปลี่ยนสี เหนื่อยมากขึ้น อาจจะมีภาวะติดเชื้อเกิดขึ้นได้ครับ ต้องมาโรงพยาบาล

สุดท้ายอยากฝากไว้ว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดมีความเปราะบางค่อนข้างสูง ทั้งจากโรคที่เป็นและการรักษาต่างๆ การเอาใจใส่จากญาติก็จะทำให้ผู้ป่วยมีแรงผลักดันในการรักษาต่อไปและรับมือกับอาการต่างๆ ได้

นพ.ชวพล งอกงาม
อายุรแพทย์ สาขามะเร็งวิทยา
โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

#LungAndMe #BetterOutcomes
#มะเร็งปอด
#รับมืออาการมะเร็ง
#อาการโรคมะเร็งปอด
#รักษามะเร็ง

- - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สามารถติดตาม LungAndMe ในช่องทางอื่นๆได้

Website : https://lungandme.com/
Line : https://lin.ee/lrchmuz
Facebook : http://facebook.com/lungandme/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCStAqq56HtPD6FDHIC8GFvw