โอกาสของผู้ป่วยมะเร็งปอด กับหมอวิโรจน์ การรักษาโรคมะเร็งปอด อย่าเสียโอกาสที่จะหาย

มะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในโลก คือ “มะเร็งปอด”
อัตราการตายจากโรคมะเร็งที่สูงที่สุด ก็คือ “โรคมะเร็งปอด”

มะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยมักมาหาแพทย์เร็ว เนื่องจากมะเร็งเต้านมอยู่ภายนอกสามารถคลำได้ เจอได้ก่อนที่จะลุกลาม ส่วนมะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะค่อยเป็นค่อยไปและมีอาการเตือน เช่น ถ่ายอุจระผิดปกติ มีเลือดออก

แต่มะเร็งปอดส่วนมากแล้วคนไข้มักจะมาหาแพทย์ด้วยระยะที่เป็นมากแล้ว เพราะปอดเป็นอวัยวะภายในและมักไม่มีอาการในระยะแรก ปอดมีพื้นที่เยอะ ก้อนมะเร็งแค่ 1 เซนติเมตร อาจไม่ถึง 1% ของพื้นที่ปอด กว่าที่จะมีอาการก็มักจะเป็นมากแล้ว ดังนั้นการรักษาเลยได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร

มะเร็งปอดประมาณ 60 - 70% จะเจอในระยะที่ 4
ส่วนระยะที่ 3 จะอยู่แค่ประมาณ 20%
ระยะที่ 1 - 2 รวมกันอยู่ประมาณ 15 - 20% เท่านั้น

ปัจจุบันวิธีการตรวจที่มีการศึกษาและยืนยันว่าจะช่วยลดอัตราตายของมะเร็งปอด คือ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดรังสีต่ำ (Low-dose Computed Tomography: LDCT ) ซึ่งจะช่วยให้เห็นมะเร็งได้เร็วขึ้น แต่ก็ต้องเลือกเฉพาะคนไข้ที่มีความเสี่ยง เพราะถ้าคนไข้ไม่มีความเสี่ยงมาก การไปตรวจก็มีโอกาสเจอได้ไม่บ่อยนัก การตรวจมีค่าใช้จ่ายสูง และคนไข้อาจได้รับรังสีจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มากเกินความจำเป็น

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง คือ ผู้ป่วยจะต้องสูบบุหรี่เป็นปริมาณที่มากพอสมควร ถึงจะมีข้อมูลยืนยันว่าการตรวจนั้นจะช่วยลดอัตราการตายจากมะเร็งปอดได้

มะเร็งปอดส่งผลกระทบหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนตัว ครอบครัว สังคม และประเทศ ผู้ป่วยหนึ่งคนจะมาหาแพทย์ก็ต้องมีคนดูแล ดังนั้นป่วย 1 คน = ป่วยทั้งครอบครัว ถ้าครอบครัวป่วยมากสังคมก็ป่วย

การรักษาเองก็ต้องใช้ทรัพยากร คือ ใช้หมอหลายทางมีค่าใช้จ่ายสูง หลังรักษาเสร็จแล้วก็ยังต้องมีการติดตามการรักษา ก็จะทำให้ภาพรวมคือประเทศจะป่วยเยอะขึ้น ถ้าเรามีผู้ป่วยโรคมะเร็งเยอะ

เวลาผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งแล้วแล้ว เหมือนถูกพิพากษาว่าชีวิตเขาต้องแย่แน่แล้ว เขาจะไม่สามารถมีชีวิตยืนยาวได้ แต่จริงๆ แล้วในปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เรามีโรคมะเร็งปอดที่รักษาให้หายขาดได้ หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็งปอดที่แพร่กระจายแล้วคนไข้ก็ยังมีคุณภาพชีวิต มีชีวิตที่ยืนยาว สามารถที่จะอยู่อย่างใกล้เคียงปกติได้

ในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา เรามีเทคโนโลยีในการรักษาที่ดีขึ้น การผ่าตัดที่ดีขึ้น การฉายรังสีที่มีประสิทธิภาพสูงเฉพาะเจาะจง ยาก็มีลักษณะที่เจาะจงมากขึ้น ผลข้างเคียงต่ำ กระทั่งใช้สิทธิ 30 บาทในการรักษา

ปัจจุบันก็มียามุ่งเป้าสำหรับผู้ป่วยที่มีลักษณะทางพันธุกรรมของมะเร็งนั้นๆ เฉพาะเจาะจง ช่วยให้การรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือผู้ป่วยต้องเข้าถึงยา ต้องร่วมมือในการรักษา และ “อย่างหลงทาง” ถ้าผู้ป่วยหลงทางไปรักษาในสิ่งที่เชื่อไปตามที่คนอื่นพูด หรือเชื่อไปตามสิ่งที่อยู่ใน Social Media ซึ่งบางทีไม่ตรง ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาส ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ป่วยต้องไม่เสียโอกาส ต้องเก็บโอกาสที่จะหายและรักษาโรคมะเร็งนี้ไว้


#LungAndMe​ #มะเร็งปอด​ #รักษามะเร็ง​ #โอกาสของผู้ป่วยมะเร็ง​
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตามข้อมูลข่าวสาร LungAndMe ได้ทาง
Website: https://lungandme.com​
Facebook LungAndMe: https://www.facebook.com/lungandme​
เพิ่มเพื่อนใน Line: @LungAndMe
https://lin.ee/lrchmuz